แหล่งท่องเที่ยว
ถ้ำทะลุ
874
10 กุมภาพันธ์ 2564

บ้านหาญ หมู่ที่ 2 ตำบลเขาขาว อำเภอละงู จังหวัดสตูล องค์การบริหารส่วนตำบลเขาขาว พี่น้องประชาชนหมู่ที่ 2 บ้านหาญร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาคณะมนุษย์ศาสตร์ และสังคมศาสตร์ ลงสำรวจถ้ำทะลุร่วมกับทีมวิจัย เพื่อศึกษาหาข้อมูลทางธรณีวิทยา หลังพบว่า “ถ้ำทะลุ” แห่งนี้เป็นอีกหนึ่งในเขตอุทยานธรณีโลกจังหวัดสตูล เนื่องจากพบซากฟอสซิลยุคทะเลโบราณ 450 ล้านปีภายในถ้ำ สำหรับเส้นทางเข้าถึงตัว “ถ้ำทะลุ” เพียง 600 เมตรจากปากทาง ได้ถูกสำรวจและประกาศให้เป็นเส้นทางท่องเที่ยวและศึกษาถิ่นทะเลโบราณ 450 ล้านปี นักท่องเที่ยวที่เข้าชื่นชมภายในถ้ำ จะพบความงดงามของหินงอกหินย้อยแล้ว ยังพบสัตว์โบราณอย่าง ตุ๊กกาย ในตระกูลตุ๊กแกสัตว์หากินกลางคืนภายในถ้ำ และค้างคาวทศกัณฑ์หน้ายักษ์ แมงมุมแต้ และซากฟอสซิลที่ผนังถ้ำ โดยมีอาสาสมัครนำเที่ยวของชุมชนให้คำแนะนำตลอดเส้นทางเดินง่ายสบายเพียง 120 เมตรก็จะทะลุไปยังหลุมยุบป่าดึกดำบรรพ์ ซึ่งหลุมยุบป่าดึกดำบรรพ์มีพื้นที่กว้าง 12 ไร่ เป็นป่ากลางถ้ำที่ทีมวิจัยสำรวจพบว่า เกิดจากปรากฏการณ์แผ่นดินเลื่อนและยุบตัวลงคล้ายปล่องภูเขาไฟ มีหน้าผาล้อมรอบ จนเกิดป่าดึกดำบรรพ์ที่มีพรรณไม้โบราณ อาทิ วงกระดังงา มะลิดิน หยาดม่วง เห็ดมากกว่า 100 สายพันธุ์ที่เป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของพรรณพืชในที่แห่งนี้ และต้นไม้ขนาดใหญ่อย่างต้นท้ายเภา ขนาดหลายคนโอบ และต้นหนังหนาดอกใหญ่ที่ออกดอกกลางลำต้น ให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชมและศึกษาดินแดนป่าดึกดำบรรพ์แห่งนี้ ทั้งนี้ นายธานี ใจสมุทร หรือน้องธิ อาสาสมัครนำเที่ยวในหมู่บ้านบอกว่า ความพิเศษของถ้ำทะเลแห่งนี้ยังเหมาะกับนักท่องเที่ยวสูงวัยเนื่องจากเส้นทางเดินไม่ลาดชันจึงไม่ยากลำบากในการเดินจึงเหมาะกับนักท่องเที่ยวหลากหลายกลุ่ม โดยมีอาสาสมัครนำเที่ยวที่หมู่บ้านพร้อมจะให้บริการไว้ถึง 12 ท่านมาให้ความรู้และนำเที่ยว โดยติดต่อมาได้ที่หมู่บ้านหรือชุมชน ผ่านเบอร์โทร 084-120-7348 ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตรจารย์ ดร.ทัศนา ศิริโชติ รักษาราชการแทน อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ระบุว่า การพัฒนาชุมชนเขาขาวให้เป็นชุมชนต้นแบบการท่องเที่ยววิถีชุมชนบูรณาการความรักความสามัคคีเทิดไท้องค์ราชัน ปีที่ 2 เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์เสริมสร้างพลังทางสังคม โดยคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ในการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม เสริมสร้างพลังทางสังคม สร้างความเข้มแข็งไม่ทอดทิ้งก้นและมีคุณธรรม โดยจัดทำแผนพัฒนาชุมชนที่มีกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ ในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน โดยทางมหาวิทยาลัยฯ เข้ามาร่วมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้บนฐานองค์ความรู้จากการวิจัยและนวัตกรรม ในการพัฒนาให้เป็นชุมชนต้นแบบ โดยวันนี้ “ถ้ำทะลุ” เขาหินปูนตำบลเขาขาว อำเภอละงู จังหวัดสตูล พร้อมแล้วสำหรับการต้อนรับนักท่องเที่ยวตามแนววิถีใหม่ ให้ศึกษาความมหัศจรรย์ของชั้นหินแต่ละยุค พร้อมสัตว์และพันธุ์ไม้โบราณหายากที่พร้อมอวดโฉมนักท่องเที่ยวแล้ว

ขอบคุณภาพสวย ๆ จาก FB ที่นี่ละงู